สถานการณ์การกลับไปสู่การปลูกฝิ่นเพื่อการค้าของเกษตรกรในพื้นที่ด้อยโอกาสบนพื้นที่สูง ถือว่าเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในการก่อปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของประเทศและปัญหาการยอมรับของนานาชาติ รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยเขตปลอดยาเสพติดอาเซียน หรือแม้แต่การปฏิบัติตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วิธีปฏิบัติการด้วยระบบปกติของหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่เพียงอย่างเดียวและยกเลิกการพัฒนาเชิงบูรณการบนพื้นที่สูง น่าจะทำให้การป้องปราม การบังคับใช้กฎหมาย และการขจัดพื้นที่ปลูกฝิ่น รวมทั้งการลดปัญหาสารเสพติดของชาติไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ การละเลยและปล่อยให้เกษตรปลูกฝิ่นได้แม้ในพื้นที่เล็กๆจะทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นอย่างทวีคูณ และขยายตัวอย่างรวดเร็วและการแก้ไขปัญหาจะมีความยากลำบาก
เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความชัดเจน จำเป็นต้องจัดกระบวนการทำงานในเชิงบูรณาการที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนาสังคมและชุมชน และการบังคับใช้กฎหมาย โดยการพัฒนาตามแนวทางของโครงการหลวงที่ดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงโดยอาศัยฐานความรู้ที่เหมาะสม ควบคู่กับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พื้นที่ดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงเขตภูเขาของภาคเหนือ ประกอบด้วย 11 พื้นที่ 15 ตำบล ตั้งอยู่ใน 7อำเภอ ของ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ซึ่งมีพื้นที่ปลูกฝิ่นและจำนวนประชากรรวมทั้งชนเผ่า ซึ่งโดยทั่วไปจัดเป็นหมู่บ้านในพื้นที่ทุรกันดารมาก การเข้าถึงพื้นที่กระทำได้ค่อนข้างยาก ถึงยากมาก และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านเป้าหมายจะต้องเดินทางข้ามจากสันเขาสู่สันเขาเป็นส่วนใหญ่ มีพื้นที่เป้าหมาย ดังนี้